in , , , ,

ประสบการณ์ทำแบรนด์เสื้อผ้า ตัดเย็บเสื้อผ้า ขายออนไลน์ และ ร้าน SOS & CAMP

ประสบการณ์ทำแบรนด์เสื้อผ้า ตัดเย็บเสื้อผ้า ขายออนไลน์ และที่ SOS & CAMP

เมื่อประมาณปี 2011 – 2013 เป็นช่วงที่วัยรุ่นไทยกำลังฮิต ทำแบรนด์เสื้อผ้า ขายเสื้อผ้าออนไลน์ ทีมงาน Beverly O ก็เป็นหนึ่งในนั้น ปีนั้นเราออกจากงาน ใช้เงินเก็บซื้อจักร 1 ตัว ไว้เรียนรู้การตัดเย็บเสื้อผ้าเอง พร้อมกับเริ่มต้นทำแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเองขายออนไลน์ โดยที่ไม่เคยเรียนหรือจบด้านแฟชั่นดีไซน์มาก่อนเลย ในบทความนี้ เรามาเล่าประสบการณ์ว่า ทำแบรนด์เสื้อผ้า ด้วยตัวเอง ต้นทุนประมาณเท่าไร ต้องเรียนรู้แพทเทิร์นยังไงบ้าง หาช่างเย็บผ้าและขึ้นแบบยังไง การถ่ายรูปสินค้าสำหรับขายออนไลน์ การบริหารต้นทุนและกำไร ปัญหาที่เจอและต้องก้าวผ่าน สำหรับคนที่เริ่มต้นจาก 0 แบบไม่มีความรู้ด้านการทำเสื้อผ้ามาก่อนเลย ยาวไปจนถึงการนำเสื้อผ้าไปขายในร้าน CAMP และ SOS มาดูกันเลยค่ะค่ะ

คุณอาจสนใจ

ประสบการณ์ทำแบรนด์เสื้อผ้า

ตัดเย็บเสื้อผ้า ขายออนไลน์ ต้องมีความรู้อะไรบ้าง

ตอนทีมงาน Beverly O ทำแบรนด์เสื้อผ้า เราเริ่มจากไม่มีความรู้อะไรเลย ทีนี้สิ่งที่เราสรุปมาให้ คือ จากประสบการณ์ของเรา ถ้าเรามีโอกาสเริ่มต้นใหม่ได้ เราจะแนะนำเพื่อนๆ ที่อยากทำเสื้อผ้าขายออนไลน์ ดังนี้ค่ะ

วิธี & ขั้นตอนการ ทำแบรนด์เสื้อผ้า ตัดเย็บเสื้อผ้า ขายเอง ออนไลน์

1. มีเป้าหมาย มีลูกค้าที่ชัดเจนแน่นอน

กับดักแรกของการขายเสื้อผ้าออนไลน์ แบบตัดเย็บเสื้อผ้าขายเอง คือ เรามักจะคิดว่าเราจะขายเสื้อผ้าแบบที่เราอยากซื้อหรือชอบซื้อ แต่ในความเป็นจริง เราจะไม่รู้เลยถ้าเราไม่ได้ศึกษาตลาดล่วงหน้า ว่าตลาดต้องการแบบไหน ลูกค้าอายุเท่าไร มีลูกค้าอยู่ในตลาดนี้จริง ๆ หรือไม่ ซึ่งในขณะเดียวกัน คู่แข่งก็มีรอบตัว มีทั้งแบรนด์เสื้อผ้าเก่าและใหม่ เตรียมวางขายพร้อม ๆ กันกับเรา

สิ่งที่อยากแนะนำก็คือ ควรมีการศึกษาความต้องการของตลาด เสื้อผ้าออนไลน์ โดยศึกษาเรื่อง ราคาสินค้า สไตล์ ช่องทางการขาย ฯลฯ เพื่อที่เราสามารถทำสินค้าที่ตอบโจทย์คนซื้อได้จริง ๆ ซึ่งถ้าไม่มีคนซื้อก็แปลว่าทุนจม สิ่งสำคัญคือเราต้องหาเอกลักษณ์ของแบรนด์เราให้เจอ และ ต้องตอบโจทย์ลูกค้าด้วย ทั้งในเรื่องของแบบเสื้อผ้า และ ราคาเสื้อผ้า

2. ต้นทุน ทำแบรนด์เสื้อผ้า ตัดเย็บเสื้อผ้า ขายเอง

ก่อนที่เราจะหาช่างเย็บผ้า เราควรร่างแผนขึ้นมาก่อน ว่าแบรนด์เราจะเป็นยังไง หน้าตาเป็นยังไง ขายใคร ทีนี้เราก็จะพอสรุปได้ว่า เสื้อผ้าที่เราจะตัดเย็บขายจะหน้าตาประมาณไหน ราคาเท่าไร ซึ่งจะช่วยให้เราคำนวณ ต้นทุนในการตัดเย็บเสื้อผ้า ขายเองได้

วิธีคำนวณ ต้นทุนการตัดเย็บเสื้อผ้า และ ต้นทุนการขายเสื้อผ้า

ต้นทุนการตัดเย็บเสื้อผ้า นอกจากจะมีค่าวัสดุ ผ้า กระดุม ค่าช่างเย็บผ้าแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายแฝงอื่น ๆ เช่น ค่ารถ ประกอบด้วยค่ารถในการไปรับผ้า หรือ ส่งผ้าไปให้ช่าง บางแบรนด์อาจมีค่ารีดผ้าด้วย ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการขายของเกรดไหน ซึ่งหากให้แนะนำ ควรคิดถึงราคาเสื้อผ้าที่เราต้องการขาย เช่น สมมติว่า เราต้องการขายเสื้อผ้าที่ราคาตัวละไม่เกิน 490 บาท เราจะต้องมานั่งคำนวณแล้วว่า ราคาขาย เสื้อผ้า ตัวละ 490 บาท ตกเป็นต้นทุนทั้งหมดเท่าไร ทั้งต้นทุนการผลิต ค่าใช้จ่ายทางการตลาด ขายออนไลน์ ต้องการยิงโฆษณาออนไลน์หรือไม่ ค่าผ้าเท่าไร ค่าเย็บเท่าไร ค่าอุปกรณ์แพ็กของเท่าไร ฯลฯ

ซึ่งการคำนวณต้นทุนการตัดเย็บเสื้อผ้า วัสดุ และ ค่าใช้จ่ายทางการตลาด ทั้งบ่วงโซ่ Supply Chain นี้ จะทำให้เรากำหนดเป้าหมายในการหา Supplier, โรงงานตัดเย็บ, เตรียมทุนในการสต็อกสินค้า และ มีเป้าหมายในการคุยกับโรงงานเย็บผ้า ว่าเราต้องการผลิตกี่แบบ แบบละกี่ชิ้น ชิ้นละกี่บาท

อย่าลืมว่า ถ้าเราตัดเย็บเสื้อผ้าในจำนวนที่น้อยนิด ต้นทุนเราก็อาจสูงตามไปด้วย และ อาจจะไม่มีช่างเย็บผ้าหรือโรงงานอยากรับทำงานของเรา (เพราะงานน้อย ทุนน้อย ฯลฯ) แต่หากเราตัดมาเยอะ ก็จะมีคนอยากทำงานกับเรา แต่เราก็ต้องหาวิธีระบายสต็อกออก ขายให้หมดให้ได้

3. การสต็อกสินค้า และ การออกสินค้าใหม่

ในการทำแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเอง นอกจากนึกถึงคอลเลคชั่นปัจจุบันแล้ว เจ้าของแบรนด์จะต้องทำงานล่วงหน้าประมาณ 1 – 2 ปี ในการวางแผนออกคอลเลคชั่นตามแต่ละฤดูกาล หรือ แต่ละเดือน ซึ่งขึ้นอยู่กับแผนงานของคุณโดยปกติ คนที่จะทำแบรนด์เสื้อผ้าครั้งแรก มักจะนึกถึงแค่คอลเลคชั่นแรกและคอลเลคชั่นเดียว แล้วขายให้หมด แต่ในบางครั้งมันไม่เป็นไปตามที่คุณคิด เพราะมันผิดตั้งแต่การวางแผนตั้งแต่ข้อแรก (วางแผนเป้าหมาย ลูกค้า คนซื้อ) และอาจทำให้การขายเสื้อผ้าสะดุด …. แต่ถ้าหากคุณฟลุค ขายออกหมด ทีนี้ปัญหาก็คือ แล้วคอลเลคชั่นที่ 2 ล่ะจะมีมาวางขายเมื่อไร มันจะยิ่งต้องคิดให้ถี่ถ้วนยิ่งขึ้นหากคุณทำคนเดียว

เรื่องการสต็อกสินค้า และ การออกสินค้าใหม่

สำหรับคนทำแบรนด์เสื้อผ้าออนไลน์ หรือ ทำเสื้อผ้าขายเอง คือ คุณจำเป็นต้องวางแผนว่า

  • สินค้าคอลเลคชั่นแรกจะเสร็จเมื่อไร
  • คอลเลคชั่นสอง สาม สี่จะตามมาเมื่อไร
  • บริหารจัดการการทำคอลเลคชั่นใหม่ไปพร้อม ๆ กับขายสินค้าคอลเลคชั่นปัจจุบัน
  • เตรียมวิธีจัดการกับสต็อกสินค้า เสื้อผ้า ที่ขายไม่ออก ว่าจะมีโปรโมชั่นลดราคาอย่างไร (ซึ่งนี่ยังไม่รวมการวางแผนการตลาดวิธีเปิดตัว หรือ ให้คนได้ลองซื้อครั้งแรก)
  • เตรียมให้แน่ใจว่า ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า หรือ โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า จะสามารถส่งงานให้คุณตามเวลาได้

4. ขายเสื้อผ้าออนไลน์

หากคุณต้องการขายเสื้อผ้าออนไลน์ ก็จะต้องคิดก่อนว่า จะขายที่ไหน Platform มีให้เลือกเยอะแยะไปหมด ทั้ง Instagram, Facebook, Website และ อีกมากมาย ต้องดูว่าลูกค้าของคุณสิงตัวอยู่ในแอพไหน

ขั้นตอน & วิธี ขายเสื้อผ้าออนไลน์

  • เปิดหน้าร้านออนไลน์
  • หาทางนำลูกค้าเข้ามาที่ร้านออนไลน์ของคุณ เช่น ซื้อโฆษณา Facebook หรือ โฆษณา Google Ads เป็นต้น
  • โพสต์สินค้า ด้วยรูปภาพสวย ๆ
  • การรับออเดอร์ คุณจะพิมพ์ตอบลูกค้าเอง หรือ ใช้บอท หรือ จ้างแอดมินสำหรับรับออเดอร์ออนไลน์ และ จะใช้ซอฟท์แวร์อะไรในการช่วยจัดการออเดอร์สินค้าหรือไม่? เช่น Page365 หรืออะไรก็ว่าไป
  • การแพคสินค้า จะจัดส่งกับบริษัทขนส่งอะไร J&T, Flash, Kerry Express, ไปรษณีย์ไทย, DHL และอีกมากมาย
  • การแจ้งเลขแทร็กให้กับลูกค้า : หลังส่งของแล้ว จะมีการแจ้งเลขแทร็กให้ลูกค้า ต้องวางแผนว่าจะส่งให้ลูกค้ารายคน หรือ ถ่ายรูปแล้วโพสต์หน้าไอจี ซึ่งก็ดูตรง ๆ ไปหน่อย แต่หากคุณใช้โปรแกรมช่วยขาย จัดจัดการออเดอร์ ก็จะมีฟังก์ชั่นช่วยสแกนบาร์โค้ดหรือบันทึกเลขแทร็ก ซึ่งทำให้เราไม่ต้องเปิดแชทลูกค้าแล้วพิมพ์หาลูกค้าในไลน์เป็นคน ๆ ไป สมัยก่อนใช้ Sellsuki แต่หลังจาก Sellsuki ปิดให้บริการโปรแกรมจัดการออเดอร์เชื่อมต่อกับไลน์ ก็เปลี่ยนมาใช้ Page365 ซึ่งนี่ก็ไม่ได้โฆษณาให้เขา ใช้จริง ๆ แต่ก็มียี่ห้ออื่นอีก สามารถลองใช้ดูกันได้

ทั้งหมดนี้ หากคุณต้องทำคนเดียวทั้งหมด ทั้งวางแผนการผลิต ดูแลร้านออนไลน์ ตอบแชท ส่งทุกอย่างด้วยตัวเอง ดูแลการถ่ายรูป การโพสต์ด้วยอีก อาจจะเวียนหัวตายไปก่อน หากไม่ตายก็อาจจะเหนื่อยมาก ๆ เพราะฉะนั้น การวางแผนล่วงหน้าสำคัญมาก

5. วางขายเสื้อผ้า ในร้าน SOS หรือ CAMP BKK

ในการวางขายเสื้อผ้าหน้าร้าน ร่วมกับร้าน Multi-brand เช่น SOS หรือ CAMP BKK นั้นไม่ยากค่ะ แค่ติดต่อร้านไป หรือ บางทีร้านเหล่านั้นอาจติดต่อเรามาหากเห็นเราคอนเสปต์แบรนด์เสื้อผ้าของเราและเขาไปด้วยกันได้ ความยากสำหรับคนที่ทำเสื้อผ้าขายคนเดียวก็คือ

ประสบการณ์ ขายเสื้อผ้า ในร้าน SOS และ CAMP

  • เลือกทำเล หรือ สาขา ว่าแบรนด์เสื้อผ้าของเราเหมาะกับ SOS , CAMP และ เหมาะกับสาขาไหน นอกจากนี้ ความยากเข้าไปอีกคือ ร้านจะมีพื้นที่ว่างให้เราหรือไม่ (สาขายอดฮิต เช่น สยาม)
  • การขายสินค้าใน CAMP หรือ SOS ไม่ได้การันตีว่าเสื้อผ้าคุณจะขายได้ สิ่งที่สำคัญคือสินค้าของคุณ และ การตลาดของคุณ หากคุณเป็นแบรนด์ใหม่ และสามารถทำให้คนรับรู้และรู้จักว่ามีแบรนด์เสื้อผ้าของคุณขายอยู่ที่ SOS หรือ CAMP ได้ ว่าที่ลูกค้าก็จะตามไปดูสินค้าของจริง แต่ถ้าตามไปดูที่ร้านแล้วสินค้าไม่โดนใจ เข้าถึงเป้าหมายไม่ได้ เมื่อนั้นก็งานงอกค่ะ
  • ร้าน Multi brand จะมีพื้นที่ให้เราสต็อกสินค้าของแบรนด์เรา ทีนี้ สมมติว่าร้านอนุญาตให้เราสต็อกได้ 150 ชิ้น ก็แปลว่าคุณจะต้องแพ็กสินค้า 150 ชิ้น ใส่ถุง ติดป้ายบาร์โค้ด เองคนเดียว ฟังดูเหมือนง่าย แต่ถ้าทำคนเดียวคือบางที 1 วันก็ไม่จบนะคะ
  • หากเปิดขาย 5 สาขา ก็ต้องเตรียมชุดสำหรับวางโชว์ ซึ่งชุดเหล่านี้ เป็นชุดที่จะให้ลูกค้าใส่ลอง และต้องทำใจว่าอาจจะพัง หรือ เสียหาย และ เลอะเครื่องสำอางค์ได้ค่ะ
  • นอกจากนี้ หากขายดี ก็ต้องวางแผนการส่งสต็อกสินค้าไปเติม และ วางแผนการผลิตคอลเลคชั่นใหม่ ถ่ายรูป LOOKBOOK คอลเลคชั่นใหม่ ไปพร้อม ๆ กันค่ะ

6. ประสบการณ์ถ่ายแบบร้านขายเสื้อผ้า ถ่ายภาพสินค้าสำหรับขายออนไลน์ หรือ ถ่าย LOOKBOOK / PACKSHOT สำหรับแบรนด์เสื้อผ้า

ค่าใช้จ่ายในการถ่ายแบบ ถ่าย LOOKBOOK เสื้อผ้า จะรวมอยู่ในต้นทุนด้วยค่ะ ฉะนั้น ก่อนที่จะตั้งราคาสินค้า ควรตรวจดูและวางแผนให้แน่ใจ ว่าเราจะถ่าย LOOKBOOK ที่ไหน หรือ จะถ่ายเป็น Packshot (ถ่ายภาพเฉพาะค้าสิน ให้พื้นหลังเป็นแบ็กกราวด์ ไม่มีนางแบบ) ซึ่งจำเป็นในการเอามาคำนวณต้นทุนสำหรับตั้งราคาขายเสื้อผ้า หากถ่ายในสตูดิโอ ก็อาจจะมีค่าสตูดิโอ ราคาขึ้นอยู่แต่ละที่ ไม่เท่ากัน บางที่ทั้งถ่ายภาพถ่ายวิดีโอ รวมกัน 5,000 แต่บางทีถ่ายวิดีโอก็คิดเงินเพิ่ม

ค่าใช้จ่ายในการถ่ายแบบเสื้อผ้า หรือ ถ่ายภาพสินค้า

การคุยกับช่างภาพ ควรคุยว่าได้ไฟล์ RAW หรือไม่ และมีการรีทัชภาพให้ไหม หากรีทัชเพิ่มคิดเท่าไรต่อภาพ มีแพ็กเกจอย่างไร ค่าช่างภาพบางคนคิดที่ 5,000 บาท ไม่รวมรีทัช (ต่อรูป) บางคนคิด 20,000 บาท (ไม่รวมรีทัช) เฉพาะค่าช่างภาพ ส่วนค่านางแบบ ก็แล้วแต่จะหา หากเป็นนางแบบตามโมเดลลิ่ง ก็แล้วแต่เรทราคาอีก บางคนทั้งวัน 15,000 บางคนทั้งวัน 20,000 + ขึ้นอยู่กับว่าผลงานระดับไหน ซึ่งบางงานอาจจะจำเป็นต้องใช้นางแบบมากกว่า 1 คน เพื่อให้ถ่ายเสื้อผ้าได้ครบทุกแบบ

ด้วยความที่การถ่ายแบบเสื้อผ้า หรือ ถ่าย Lookbook บางครั้งใช้งบประมาณสูงมาก ก็มีบางแบรนด์ ที่ประหยัดค่าใช้จ่ายในการถ่ายภาพ ด้วยการ ขึ้นแบบเสื้อผ้าทั้งหมดครบทุกฤดูกาล (สำหรับขาย 1 ปี) ให้เสร็จ แล้วนำมาถ่ายแบบภายในวันเดียว หรือ ไม่กี่วัน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ

7. หาช่างตัดเย็บเสื้อผ้า

กรณีที่ไม่ได้ใช้โรงงาน OEM หรือ ใช้เอเจนซี่ที่ทำงานครบวงจร บริการดูแลทั้ง Supply Chain ก็อาจจะต้องหาช่างตัดเย็บเสื้อผ้าตามตรอก ตามซอย ตามโซนที่นิยม เช่น ช่างเย็บผ้า ประชาอุทิศ, สายไหม, พระประแดง, สุขสวัสดิ์ เป็นต้น ความเสี่ยงคือ

  • ฝีมือช่าง ไม่เป็นไปตามที่ตกลง Defect เยอะ ไม่รับผิดชอบ
  • ช่างหนีงาน อยากทำงานเมื่อไรก็ทำ บางคนไม่มีทีมงานเลย แต่รับเย็บ 150 ตัว คุณต้องคิดดูว่าแล้วเมื่อไรจะเสร็จ ยิ่งหากช่างอายุเยอะ อยากพักเมื่อไรก็พัก แล้วเมื่อไรเราจะได้ชุด บางครั้ง ไปฝากเย็บกว่าจะได้งาน ก็ผ่านไป 1 ปี บางทีบอกไม่ต้องเย็บแล้ว จะไปเอาผ้าคืน พอมีแรงอยากเย็บ ก็เย็บมา ทั้ง ๆ ที่เราเลิกขาย ไม่ต้องการแล้ว
  • ช่างทิ้งงานไปรับงานที่ออเดอร์เยอะกว่า กลายเป็นงานของเราเป็นรอง ทั้ง ๆ ที่สั่งงานไปก่อน รอไป 2 เดือน ยังไม่ได้งาน ช่างอาจจะบอกว่ามีออเดอร์ใหญ่เข้ามา ร้านเล็ก ๆ เพิ่งเริ่มต้นอาจจะต้องทำใจกับสถานการณ์แบบนี้
  • ทำมาคนละอย่างกับที่ขอ เช่น ส่งผ้าไปหลายชนิด (สำหรับชุดคนละแบบ) แต่เย็บสลับกัน ปรากฏว่าใช้ชีฟองบาง ๆ ไม่มีซับในมาเย็บชุด กลายเป็นว่าใส่ไม่ได้ เย็บเสร็จแล้ว จะให้เราเอาไปขายใคร ในเมื่อเจ้าของยังไม่กล้าใส่เองเลย?

8.การเตรียมตัว ความรู้ที่ควรมี ในการคุยกับช่างเย็บผ้า

ในบางครั้ง หากเราไม่มีความรู้เรื่องการเย็บผ้าเลย ก็ส่งผลให้เราได้งานที่ไม่ดี เพราะคิดว่าเย็บเสร็จก็คือเสร็จ แต่จริง ๆ การเย็บเสื้อผ้าต้องมีการตรวจรายละเอียดเพื่อให้ได้เสื้อผ้าพร้อมใส่ที่คุณภาพดี การเตรียมตัวในการคุยกับช่างเย็บผ้า มีดังนี้ค่ะ

  1. ควรต้องรู้คำศัพท์ หรือ มีที่ปรึกษาที่เรียนด้านการออกแบบเสื้อผ้ามาโดยตรงสำหรับช่วยเช็กงาน เช่น การเดินขอบ, เก็บคิ้ว ฯลฯ บางทีมือใหม่ ไม่รู้เรื่องหรอก ช่างเย็บยังไงก็โอเคหมด ไม่รู้เรื่อง ขอแค่งานเสร็จ กลายเป็นว่าเจ้าของแบรนด์อยากจะแค่มีเสื้อผ้ามาวางขาย แต่คนซื้อคนใส่อาจไม่แฮ้ปปี้ เห็นแล้วไม่เหมาะกับค่าการตลาดที่โปรโมทและวางภาพไว้
  2. การทำแพทเทิร์น หากทำไม่เป็น อย่างน้อยควรมีความสามารถในการวาดรูป บอกช่างได้ว่าต้องการแบบไหน อย่างไรก็ตาม ช่างบางคนอาจไม่ถูกจริตกับเสื้อผ้าสมัยปัจจุบัน ควรหาช่างทำแพทเทิร์นที่ทันสมัยซักนิดหากคุณขายเสื้อผ้าวัยรุ่น

หากได้ช่างเย็บผ้าดี ก็เป็นศรีแก่ตัวมาก ๆ ค่ะ

9. การ Sponsor รายการทีวี ให้ยืมเสื้อผ้าไปใช้ แลกกับการโปรโมทแบรนด์ และได้รูปภาพดาราใส่สินค้ากลับมา

เป็นเรื่องที่น่าดีใจหากแบรนด์ของเราเป็นที่รู้จักในระดับหนึ่งจนมี รายการทีวีมาขอสปอนเซอร์เสื้อผ้าไปใช้ แต่ภัยมืดที่น่ากลัว ที่เราเคยโดนมาคือ มีนักศึกษาฝึกงานของรายการทีวี มาขอยืมชุดไปให้ดาราใส่ จะถ่ายรูปมาให้ แต่หลังจากให้ชุดไปแล้ว กลับไม่ได้ชุดคืน ไม่ได้รูป และแทบจะไม่สามารถติดต่อกับน้องคนนั้นได้อีกเลย โชคดีที่มีเพื่อนใน Facebook เคยเป็น Producer ในบริษัทนั้น ช่วยตามให้ ซึ่งกว่าจะได้คืนก็ต้องสู้กับคำแก้ตัวของเด็กฝึกงานมากมาย เช่น คืนไปแล้ว คืนแล้วจริง ๆ ฯลฯ ต้องหาทางพูดคุยว่าจะใช้ภาพจากกล้องวงจรปิดมาเป็นหลักฐานกันเลยทีเดียวถึงจะยอมคืน แต่แม้ว่าจะคืนก็ไม่ได้รูปดารามาอยู่ดี คือ น้องน่าจะเอาชุดไปใช้เอง เพราะส่งกลับมาพร้อมถุงร้านขายผ้า (น่าจะเอาชุดไปก็อปแบบสำหรับตัดใส่เอง) เล่นเอาเสียความรู้สึกและหวาดระแวงการสปอนเซอร์เสื้อผ้ากันไปพอควร

สิ่งที่พอจะป้องกันได้มีดังนี้

  • เวลาให้รายการทีวียืมเสื้อผ้า ต้องมีใบขออนุญาตจากผู้ดูแลรายการ (จดหมายขอความอนุเคราะห์) ระบุชื่อแบรนด์ชัดเจน ระบุวันที่ยืม ระยะเวลาที่ยืม และวันที่ที่จะคืน พร้อมกับขอสำเนาบัตรพนักงานของผู้ยืม หรือ สำเนาบัตรประชาชนผู้ยืม พร้อมกับให้เซ็นใบรับสินค้า ในวันที่มายืมสินค้า

จบประเด็นสิ่งที่ควรระวัง และ ควรทำ ควรวางแผนในการ ทำแบรนด์เสื้อผ้า ตัดเย็บเสื้อผ้า ด้วยตัวเอง

นอกจากนี้ ในการทำแบรนด์เสื้อผ้า ตัดเย็บเสื้อผ้าขายเอง ยังมีเรื่องเล็ก ๆ เช่น ป้ายยี่ห้อ การออกแบบโลโก้แบรนด์ และอีกมากมาย ซึ่งทีมงาน Beverly O ก็ขอเชียร์ให้คนที่อยากทำ ทำสำเร็จนะคะ

คุณอาจสนใจ


สร้างบัญชี เขียนบทความและรีวิว ในเว็บไซต์ Beverly O คลิกที่นี่

Report


ชอบเว็บไซต์ของเรา? ตั้งกระทู้ เขียนรีวิว หรือ บทความ หรือ สนใจลงโฆษณา ติดต่อทีมงาน Beverly-O

Written by BeverlyO

รีวิว ประสบการณ์ ซื้อกระเป๋า Hermes Kelly ไม่ต้องทำยอด ที่ Shop Hermes Madison Avenue นิวยอร์ก ของคุณ KarenBritChick

รีวิว ประสบการณ์ ซื้อกระเป๋า Hermes Kelly ไม่ต้องทำยอด ที่ Shop Hermes Madison Avenue นิวยอร์ก ของคุณ KarenBritChick

คู่มือ ซื้อกระเป๋า Hermes ใบแรก ควรเลือกรุ่นอะไร สีอะไร และ หนังอะไร

คู่มือ ซื้อกระเป๋า Hermes ใบแรก ควรเลือกรุ่นอะไร สีอะไร และ หนังอะไร