เมื่อถึงวัย 4 – 5 ขวบ ลูกของเราเริ่มเข้าอนุบาล หรือ เด็กบางคนอาจมีน้องเล็ก ๆ เป็นวัยที่คุณพ่อคุณแม่อาจพบว่าลูกชอบเล่นแรง ๆ (โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย) ลูกชอบแย่งของ ลูกหวงของเล่น ทำให้มีปัญหาที่โรงเรียน ทำเพื่อนเจ็บ เพื่อนไม่อยากเล่นด้วย หนักหน่อยก็โดนเรียกผู้ปกครองมาคุยกัน หรือ บางท่านที่กำลังมีลูกอายุ 4 – 5 ขวบ และมีน้องใหม่ เด็กทารกเกิดขึ้นมาอีกคน อาจกังวลว่าพี่เล่นกับน้องแรง จะทำยังไงดี อีกกรณีคือ ลูกเอาแต่ใจ ไม่ยอมใคร เพราะเป็นลูกคนเดียว ถูกตามใจ ในบทความนี้ เรามาเล่าประสบการณ์วิธีแก้ปัญหาลูกเล่นแรง และ การสอนลูกให้เห็นอกเห็นใจคนอื่น คิดถึงความรู้สึกของคนอื่น ในบทความนี้ค่ะ
วิธีแก้ปัญหา ลูกเล่นแรง ไม่เข้าใจความรู้สึกของคนอื่น จากประสบการณ์
หลาย ๆ ท่านอาจจะเคยอ่านบทความในอินเตอร์เน็ตที่บอกว่า หากลูกเล่นแรง ไม่มีความเห็นอกเห็นใจคนอื่น เราก็ไม่ควรแก้ปัญหาด้วยการตีลูก หรือ ทำรุนแรงกับลูก และคนไทยเรามักจะโตมาด้วยการสั่งสอนแบบเป็นคำพูด ยกตัวอย่างครอบครัวเรา พ่อแม่ปู่ย่าตายายจะใช้คำพูดในการสอนเสมอ เช่น “เราไม่ทำคนอื่นเจ็บ” “พี่น้องกันต้องแบ่งกันนะ” “ไม่แย่งกันนะ ไม่เก่งเลย” “ถ้าทำคนอื่นเจ็บแซนตาครอสไม่ให้ของขวัญปลายปีนะ” หนักหน่อยอาจจะสอนลูกแบบหยิกมาหยิกกลับ ตีมาตีกลับ หรือบางท่านอาจจะให้ลูก “เข้ามุม” เป็นการทำโทษแบบละมุนละม่อมแล้วค่อยกลับมาคุยกันตอนลูกใจเย็นลง วิธีเหล่านี้ เราก็พยายาม พยายามมาเยอะมาก แต่ลูกก็ยังไม่หยุด เราจึงหาวิธีแก้ปัญหาดังนี้ และมันสำเร็จ จึงนำมาประสบการณ์มาเล่าค่ะ
อ่านหนังสือที่มีภาพประกอบ ให้ฟัง เพื่อเป็นตัวอย่าง
เราสั่งนิทานเล่มหนึ่งมา ชื่อหนังสือว่า “Have You Filled a Bucket Today?: A Guide to Daily Happiness for Kids” เขียนโดย Carol McCloud เพื่อมาอ่านให้ลูกชายที่ชอบเล่นแรง ๆ ทำคนอื่นเจ็บ และ (ยังไม่รู้จัก) เรื่องการเห็นอกเห็นใจคนอื่น ให้ลูกฟัง และดูเป็นตัวอย่าง บางอย่างมองไม่เห็น แต่มีอยู่จริงและรู้สึกได้ เช่น รู้สึกมีความสุข รู้สึกได้เมื่อทุกข์ สิ่งนั้นคือความรู้สึกหรืออารมณ์
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือภาษาอังกฤษ พร้อมภาพประกอบ ที่จะสอนเด็ก ๆ ว่าคนแต่ละคนมี Invisible Bucket หรือ ถัง คนละ 1 ใบ เป็นถังล่องหน ถังที่เรามองไม่เห็น ถึงจะมองไม่เห็นแต่มันมีอยู่จริง ๆ และเราจะรู้สึกได้เวลาที่เราทำสิ่งดีดี เราจะมีความสุข (หนังสือมีภาพประกอบ)
คอนเสปต์ของ Bucket หรือถังเติมเต็มความสุข จากหนังสือ ช่วยให้ลูกไม่ทำคนอื่นเจ็บ คิดก่อนเล่นแรง
ถ้าเราทำดีกับคนอื่น พูดดีกับคนอื่น ถังเราก็จะถูกเติมเต็ม เราจะรู้สึกดี และคนอื่นจะรู้สึกดีเช่นกัน ตรงกันข้าม ถ้าเราพูดไม่ดี ทำคนอื่นเจ็บ Bully คนอื่น แปลว่าเราตักความสุขออกจาก Bucket คนอื่น เราอาจจะคิดว่าเรามีความสุขที่ทำอย่างนั้น แต่จริง ๆ คนที่ทำไม่ดีลงไปก็ไม่มีความสุขเหมือนกัน ทั้งคนทำและคนถูกกระทำ พร้อมทั้งยกตัวอย่างให้ดูเป็นไอเดียด้วยว่า ลูกทำอะไรได้บ้างที่ทำให้ทั้งลูกและคนอื่นรู้สึกดี
หนังสือเขียนดี และมีภาพประกอบเยอะมาก ๆ ควรซื้อมาอ่านนะคะ มันละเอียดและเห็นภาพกว่าที่เราจะบรรยายได้ … ลูกชายเรา 5 ขวบ เราทั้งสอนทั้งพูดดีดีทำทุกอย่าง แต่บางทีก็จะแอบทำน้องล้ม เล่นแรง ๆ
ผลลัพธ์หลังจากอ่านหนังสือให้ลูกฟังได้ 1 คืน
ปรากฏว่าตั้งแต่อ่านหนังสือเรื่องนี้ให้ลูกฟัง ลูกเราก็เริ่มเรียนรู้ที่จะตระหนักถึงเรื่องสิทธิ์ของคนอื่น คือ เราไม่ควรทำคนอื่นเจ็บ และเรียนรู้มารยาทการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ ตระหนักเรื่องความรู้สึกของตัวเองและคนอื่น ซึ่งผลจากการอ่านหนังสือเรื่องนี้ เราสามารถเอาสิ่งที่สอนในหนังสือมาสอนลูกต่อได้อีกหลายเรื่องมาก ๆ
ตัวอย่าง การแย่งเป่าเทียนวันเกิด และ แย่งของขวัญ
เช่น งานวันเกิด ปกติไม่ว่าวันเกิดใครในบ้านลูกเราจะแย่งทุกคนเป่าเค้ก เพราะชินกับการเป็นหลานคนเดียวในบ้าน หากไม่ยอมจะมีร้องจนบ้านแตกจนงานเลี้ยงล่ม แก้ยังไงก็ไม่หาย ดี ๆ หาย ๆ เป็นพัก ๆ แต่ก็ไม่เคยยอมที่จะไม่เป่าเค้ก ซึ่งแบบนี้ไม่ดีเลย เพราะกลายเป็นลูกไม่เคารพกฏกติกา กลัวส่งผลเสียกับลูกในอนาคตด้านการเข้าสังคม แต่พอเราอ่านหนังสือ Have You Filled a Bucket Today?: A Guide to Daily Happiness for Kids ให้ลูกฟัง มีครั้งหนึ่งที่ลูกจะแย่งเป่าเค้กวันเกิดน้องสะใภ้ และลูกก็เริ่มล็อบบี้ทุกคนว่าจะเป่าเค้กวันเกิดของคน ๆ นี้นะ (มีการแจ้งให้ทุกคนทราบล่วงหน้าด้วย ปั๊ดโธ่) … เราก็อธิบายให้ลูกฟังว่า การที่ลูกเป่าเค้กวันเกิดทั้ง ๆ ที่เป็นวันเกิดคนอื่น เท่ากับลูก Dipping into bucket ของคนอื่นแบบในหนังสือบอกนะ (เหมือนแบบตักความสุขออกจากถังของคนอื่น) ลูกอาจจะคิดว่าลูกมีความสุข แต่จริง ๆ Bucket ทั้งของลูกและของน้าก็จะถูกตักออก ไม่มีใครมีความสุขเหมือนกัน ไม่มีความสุขทั้งคู่ กลายเป็นว่าพอเราทักลูกถึงเรื่องหนังสือที่อ่าน ลูกก็ชะงัก ไม่เซ้าซี้ที่จะเป่าเค้ก หยุดคิด พร้อมที่จะฟังและพูดคุยอย่างมีเหตุผล และสามารถรอในงานวันเกิด ไม่แย่งเป่าเค้กคนอื่น รอเป่าตอนวันเกิดของตัวเองได้
ตัวอย่าง การทำเพื่อนเจ็บ ทำน้องเจ็บ เล่นแรง ๆ และวิธีแก้ปัญหาหลังอ่านหนังสือเล่มนี้
ส่วนเรื่องการทำเพื่อนเจ็บ ทำน้องเจ็บ เล่นแรง ๆ … ตอนนี้ลูกไม่ได้ไปโรงเรียนเพราะโรงเรียนปิด แต่ก็จะเจอน้องที่เป็นญาติ เป็นลูกพี่ลูกน้อง … ซึ่งเวลาที่ลูกเรา(ซึ่งโตกว่า)เดินหรือวิ่งเร็ว ก็สามารถทำให้น้องคนเล็กล้มได้ หรือ บางทีแกล้งหยอกน้อง จับขาน้องทำให้น้องสะดุดล้ม เราก็จะบอกลูกว่า ลูกเห็นไหม ลูกทำแบบนี้ น้องก็ร้องไห้ เสียใจและเจ็บ … Bucket ความสุขของน้องก็ถูกตักออก แล้วบางทีน้องก็มาตีลูกกลับเหมือนกัน คนในบ้านก็ดุลูก … สุดท้าย Bucket ความสุขของลูกก็ถูกตักออกเหมือนกัน ลูกมีความสุขไหมที่ทำแบบนี้? จำที่ในหนังสือบอกได้ไหม?
ตัวอย่าง ลูกแย่งของเล่น หรือ หวงของ และ วิธีแก้
จากที่ลูกเรามีปัญหาชอบแย่งของเล่นของเพื่อน หรือ ของน้อง แย่งออกมาจากมือ หรือบางทีหวงของเล่น พอมีใครมาเล่นด้วยก็ไม่ให้เล่น รักเพื่อน รักน้องนะ แต่หวงของอยากเก็บไว้เล่นคนเดียว เราก็จะยกตัวอย่างจากหนังสือเรื่องเดิม “Have You Filled a Bucket Today?: A Guide to Daily Happiness for Kids” ว่าการที่เราแบ่งบันคนอื่น ภาษาอังกฤษเรียกว่า Be Kind จะทำให้ถังใส่ความสุขของเราเติมเต็ม … เมื่อ Bucket ของเราถูกเติมเต็ม … Bucket ของอีกฝ่ายก็จะถูกเติมเต็มด้วย ทำให้ทุกคนมีความสุข … เมื่อเขามีความสุข เราก็มีความสุข เล่นกันสนุกสนาน … กลับกัน ตรงกันข้าม เวลาทะเลาะแย่งของเล่นกัน ถังความสุขของเพื่อนหรือของน้องก็จะถูกตักออก และของลูกก็เหมือนกัน … ปรากฏว่าลูกเราจะจำตัวอย่างจากหนังสือนี้ขึ้นใจ และเริ่มที่จะแบ่งบัน เพราะนึกถึง Invisible Bucket หรือ ถังความสุขที่มองไม่เห็น เหมือนในหนังสือค่ะ …. บางอย่างมองไม่เห็น แต่มีอยู่จริงและรู้สึกได้ เช่น รู้สึกมีความสุข รู้สึกได้เมื่อทุกข์ สิ่งนั้นก็คือความรู้สึกค่ะ
กลายเป็นว่าสถานการณ์ที่บ้าน สงบสุขได้ด้วยหนังสือเรื่อง “Have You Filled a Bucket Today?: A Guide to Daily Happiness for Kids” ค่ะ
ที่มาที่ไป
เล่าย้อนไปก่อนว่า ลูกเราเรียนโรงเรียนนานาชาติ ทีนี้ช่วงโควิดที่ต้องเรียนออนไลน์ ซึ่งเราต้องนั่งเรียนข้างลูกตลอด เราพบว่าโรงเรียนนานาชาติท่ีลูกเรียนจะมีคาบเรียนอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ที่สอนเด็กเกี่ยวกับอารมณ์ (สอนตั้งแต่ 4 – 5 ขวบ) และการจัดการอารมณ์ เช่น ถ้ารู้สึกเศร้าให้นึกถึงสิ่งที่มีความสุข สิ่งที่ Grateful ปรากฏว่าลูกเราตอบคำถามครูถูกด้วย ตอนอายุประมาณ 5 ขวบ เราจึงเก็ตว่าเด็กอายุประมาณนี้เริ่มพูดคุยและพร้อมจะเข้าใจความหมายคำพูดที่ลึกซึ้งขึ้นแล้ว พอพบปัญหาลูกเล่นแรง ทำเพื่อนเจ็บ ทำน้องเจ็บ หรือ ไม่เข้าใจความรู้สึกคนอื่น ทำคนอื่นเสียใจ เราจึงไปค้นหาหนังสือในเว็บ Amazon แล้วกดสั่งมา ก็เจอหนังสือเรื่อง “Have You Filled a Bucket Today?: A Guide to Daily Happiness for Kids” ที่อยู่ในรายชื่อหนังสือแนะนำสำหรับเด็ก (จำไม่ได้ว่าหมวดอะไร) ก็เลยสั่งมาค่ะ ซึ่งเราก็พบว่าหนังสือเล่มนี้ดีมาก ๆ และช่วยได้มาก ลูกเราเปลี่ยนไปเลยภายใน 1 คืนหลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบ เขาจะเข้าใจคอนเสปต์ว่ามันมีบางอย่างนะ ที่เรามองไม่เห็น แต่เรารู้สึกได้ ก่อนที่เขาจะเรียนรู้และเข้าใจคำว่า “อารมณ์” และการจัดการอารมณ์ได้อย่างง่าย ๆ ผ่านรูปภาพค่ะ
หวังว่าบทความนี้ จะเป็นประโยชน์กับแม่ ๆ ทุกท่านนะคะ
คุณอาจสนใจ