การที่จะให้ลูกเล็กหรือเด็กเล็กเข้าโรงเรียน เช่น โรงเรียนอนุบาลหรือประถม บางครั้งนั้นก็กลายเป็นเรื่องกังวลให้กับผู้ปกครอง บางคนกลัวว่าลูกจะเข้ากับเพื่อนไม่ได้ ไม่มีเพื่อนเล่นด้วย หรือ มีปัญหากับเพื่อน … Beverly O จึงรวบรวมเคล็ดลับวิธี Make Friends หรือทักษะ “Friendship Skills” จาก Sunshine Parentingให้พ่อแม่เตรียมสอนลูกเล็กให้ “ปรับตัวเข้าหาเพื่อน” ปรับตัวเข้าสังคม เป็นวิธีหาเพื่อน วิธีอยู่กับเพื่อนให้มีความสุข เพื่อให้ลูกหาเพื่อนที่นิสัยคล้ายกันให้เจอ ไปเรียนแล้วมีความสุข และรักษาความสัมพันธ์ที่ดีเอาไว้มาฝากค่ะ
ติดตามเราใน Facebook Beverly O
- วิธีเลือก โรงเรียนนานาชาติ ที่เหมาะสมให้ลูก
- พ่อแม่ไม่เก่งภาษาอังกฤษ ส่งลูกเรียนอินเตอร์ได้หรือไม่
- โรงเรียนนานาชาติ VS โรงเรียนไทย และ English Program ต่างกันยังไง
10 ทักษะ Friendship Skill วิธีแก้ปัญหา ลูกเข้ากับเพื่อนไม่ได้ สอนลูกให้เข้ากับเพื่อน
1. หาเพื่อนที่ใช่
หนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดในการมีเพื่อนหรือการเลือกเข้าสังคมนั้น คือ เด็กจะต้องมีเพื่อนที่ดี
เพื่อนที่ดี คือ เพื่อนที่รับได้ในสิ่งที่เราเป็นเรา, มีความชอบหรือมีหัวข้อที่ชอบคล้าย ๆ กัน คุยกันได้ และ ปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน … พ่อแม่บางคน อาจจะพยายามให้ลูกตัวเองไปสนิทกับลูกของคนที่พ่อแม่ชอบ หรือคนที่ดูเด่น ดูป๊อบปูล่า … แต่ในความเป็นจริงแล้ว ลูกอาจจะไม่ได้รับการต้อนรับที่ดีสักเท่าไรจากกลุ่มนั้น … ซึ่งการมีมิตรภาพแบบนี้ อาจทำให้เกิดความลำเอียง ความลำบากใจ หรือ ไม่มีความสุข เพราะว่ามักจะมีเด็กหนึ่งคน (ที่ไม่ได้รับการยอมรับ) ที่ต้องพยายามดูแลและเอาอกเอาใจเพื่อนทุกคน เพื่อให้ตัวเองนั้นได้อยู่ในกลุ่ม
ซึ่งแทนที่พ่อแม่จะคะยั้นคะยอหรือบังคับให้ลูกพยายามไปเอาใจคนที่ไม่ต้อนรับเรา ไม่ได้ดีกับเรานั้น ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นสนับสนุนให้ลูกไปหาเพื่อนที่ดีกับเรา คุยกับเราได้ และยินดีต้อนรับเรา เล่นเหมือนกัน นิสัยคล้ายกัน มีความชอบคล้ายกัน เพื่อให้ลูกค้นพบตัวเองเจอ ว่าลูกเป็นคน “Tribe” ไหน (เผ่า หรือ นิสัย) … ซึ่งอาจจะไม่ได้เจอทันทีกับเพื่อนที่รู้จักเป็นคนแรก แต่ก็อาจจะมีอีกสองสามคนที่เข้ากับเราได้ค่ะ
2. ยิ้มแย้มแจ่มใส
ภาษากาย เป็นภาษาที่ไม่ต้องใช้คำพูด แต่ก็สามารถทำให้รับรู้ถึงความรู้สึกได้ … ซึ่งรอยยิ้ม สีหน้า และท่าทาง ก็สามารถแสดงถึงความเป็นมิตร และความน่าคบหาออกมาได้ค่ะ
ในบางครั้ง ที่ลูกกลับบ้านมาเล่าให้เราฟังว่า เพื่อนไม่เล่นด้วย หรือ เพื่อน “ใจร้าย” นั้น เด็กอาจจะไม่รู้ตัวว่าบางครั้ง บุคลิกหรือท่าทีของเรานั้น ก็อาจจะทำให้คนอื่นมองเราในแง่ลบอยู่ … แต่การถามลูกกลับไปว่า “ลูกไม่ยิ้มหรือเปล่า” หรือ “ลูกไม่ดีเองหรือเปล่า” ก็อาจจะเป็นคำพูดที่สิ่งผลในแง่ลบต่อเด็กได้เช่นกัน … ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ สามารถช่วยสอนลูกเรื่องการยิ้มแย้มแจ่มใส การรู้จักสบตา หรือ มีท่าทีเป็นมิตรเมื่อคุยกับเพื่อน สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ช่วยทำให้คนอื่นมองว่าเราเป็นมิตรและเข้าถึงง่าย ซึ่งก็สามารถทำให้คนสนใจเรามากขึ้น อยากเป็นเพื่อนกับเรามากขึ้น ช่วยดึงดูดเด็กที่น่าจะเป็นเพื่อนกันได้ให้เข้ามาหาลูกเราค่ะ
3. ถามคำถาม
โดยปกติ เด็กส่วนใหญ่มักจะชอบพูดคุยเกี่ยวกับตัวเอง แต่ในความเป็นจริงนั้น การถามคำถามที่ดีออกไป ก็สามารถทำให้เราได้รู้จักเพื่อนใหม่เช่นเดียวกัน … พ่อแม่อาจลองระดมความคิดกับลูก โดยคิดดูว่า เราจะถามคำถามแบบไหนดีนะ เวลาเราคุยกับเพื่อน … เช่น
- เธอชอบเล่นกีฬามั้ย? ชอบเล่นกีฬาอะไร?
- หลังเลิกเรียนเธอชอบทำอะไรหรอ?
- ตอนพักกลางวัน เธอชอบเล่นอะไร?
- ข้าวเที่ยงวันนี้ เธอกินอะไรหรอ?
- เธอมีพี่น้องกี่คน? มีพี่ชาย พี่สาว หรือ น้องชาย น้องสาวมั้ย?
- เธอเรียนห้องอะไรหรอ? ครูของเธอชื่ออะไรนะ?
คุณพ่อคุณแม่อาจจะลองทำ Role-play game เช่น เวลากินข้าวเย็นกับลูกที่บ้าน อาจจะให้คนนึงลองรับบทเป็นเพื่อน (ที่ดูแล้วน่าจะเป็นเพื่อนที่ดีได้) เพื่อให้ลูกลองถามคำถามและพูดคุยกันดูค่ะ
อย่างไรก็ตาม … แน่นอนว่า อย่าเอาแต่ฝึกถามคำถามลูกอย่างเดียวนะคะ ควรตั้งใจฟังคำตอบ และคอยคิดว่า เราจะตอบกลับหรือถามอะไรลูกกลับดี? … อย่าลืมว่า สิ่งนี้สามารถช่วยส่งเสริมให้เด็กกลายเป็นคนที่มีทักษะการพูด การถามคำถาม ทักษะการฟังและการติดตามผู้อื่นที่ดีเยี่ยมได้ด้วยค่ะ เพราะว่ารู้จักแบ่งปันและรับฟัง จากการให้โอกาสเพื่อนได้พูดคุยเกี่ยวกับตัวเองค่ะ
4. เชิญ/เข้าร่วม
เพื่อให้มิตรภาพเกิดขึ้น ในบางครั้ง อาจมีใครบางคนต้องเริ่มต้นก่อน … ซึ่งเราอาจจะสอนลูก ให้ชวนเพื่อนมาเล่นด้วยกัน หรือทำกิจกรรมร่วมกัน และในขณะเดียวกัน ก็อาจสอนลูก วิธีขอ “เข้าร่วม” หรือขอเข้าไปเล่นด้วย เข้าไปจอยกลุ่มเด็กที่กำลังเล่นกันอยู่แล้ว … พ่อแม่อาจอธิบายคอนเสปต์นี้ให้ลูกฟัง และช่วยกันระดมความคิดว่า เราจะชวนเพื่อนไปทำอะไรกันได้บ้างนะ (ที่ไม่มีอันตราย) เช่น อาจถามเพื่อนว่า …
- ไปเล่นบ้านต้นไม้กันมั้ย (หลังกินข้าว)?
- ขอนั่งข้าง ๆ ด้วยได้มั้ย?
- อยากเล่นวิ่งไล่จับกันมั้ย?
- มาเล่นที่บ้านกันมั้ยหลังเลิกเรียน?
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญในการ “ขอเข้าร่วม” หรือ “ขอเล่นด้วย” คือ เด็กควรตระหนักว่า ตอนนี้ใช่เวลาที่เหมาะสมมั้ยที่จะขอเข้าร่วม? เพราะว่าในบางครั้ง คำตอบนั้นอาจจะเป็นไปในทางที่ผิดหวังก็ได้ค่ะ เช่น ถ้าหากเราขอเข้าไปแทรกตอนนี้ แล้วเขากำลังเล่นกันอยู่ เราจะไปขัดจังหวะการเล่นกันของเขามั้ย? … พ่อแม่ควรสอนให้ลูกทำความเข้าใจ … เพราะว่า เกมบางเกมก็เหมาะกับการเล่นให้จบเป็นรอบ ๆ และถ้ามีใครบางคนขอเข้าไปเล่นกลางคัน ก็อาจจะเป็นเรื่องยาก … ซึ่งแทนที่เราจะขอเข้าไปเล่นด้วยเลยทันที ก็อาจจะสอนให้ลูกดูบรรยากาศรอบตัวก่อน ว่าเพื่อน ๆ ทำอะไรกันอยู่ และมีทีท่าเป็นอย่างไร แล้วค่อยบอกเพื่อนว่า “เกมต่อไปขอเล่นด้วยได้มั้ย” แทนที่จะเข้าไปขอแทรกกลางคันค่ะ
5. การ Share หรือ แบ่งปัน
การแบ่งปัน เป็นทักษะการเข้าสังคมที่สำคัญ เพราะว่าหากเด็กรู้จักแบ่งปัน ก็จะช่วยทำให้มิตรภาพเป็นไปในทางที่ดีได้ อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ควรถือโอกาสนี้ สอนลูกเรื่อง “สิทธิของตนเอง และสิทธิของผู้อื่น” รวมทั้งเรื่อง “สิทธิ์” ไปพร้อม ๆ กัน … กล่าวคือ …
- ของเล่นของลูก: เป็นสิทธิ์ของลูก พ่อแม่ไม่ควรบังคับ ให้ลูกยกของเล่นให้ญาติ หรือให้เพื่อนเอากลับบ้าน ด้วยเหตุผล แค่เพียงเพื่อจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกพอใจ หรือ แสดงออกว่าเราเป็นคนมีน้ำใจ … ถ้ามันเป็นของลูก ก็เป็นสิทธิ์ของลูกค่ะ ควรให้ลูกตัดสินใจเอง
- เพื่อนมาเล่นที่บ้าน: อาจจะเตรียมของเล่นไว้ และพูดคุยกันก่อนว่า ของเล่นอันไหนที่ลูกให้เพื่อนเล่นได้ ก็เตรียมของกันไว้ล่วงหน้า
- “ผลัดกันเล่น” หรือ “Take turn” … คนนี้เล่นเสร็จ ก็ตาอีกคนเล่นนะ เพื่อให้การเล่นและมิตรภาพเป็นไปในทางที่ดี เป็นต้นค่ะ
- เรียนรู้ที่จะแบ่งปันเรื่องราวของตัวเองในแบบที่ไม่โอ้อวด เพื่อบรรยากาศที่ดีโดยรวม ไม่เช่นนั้น การพูดคุยในวันนั้น อาจจะกลายเป็นเรื่องที่ทุกคนจดจำในทางที่ไม่ดีไปอีกนานแสนนานก็ได้ค่ะ
- เค้กวันเกิด: เป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญ เวลาพาลูกไปงานปาร์ตี้วันเกิดเพื่อนหรือญาติ … ก็เป็นโอกาส ที่เด็กจะได้เรียนรู้ว่า ครั้งนี้เป็นตาของเพื่อนหรือญาตินะ ที่จะเป่าเค้กวันเกิด เพราะว่าเป็นวันเกิดของเขา
สิ่งที่สำคัญอีกอย่าง นอกจาก “การแบ่งปันสิ่งของและของเล่น” แล้ว … ยังมีเรื่องการ “แบ่งปันสปอตไลท์” หรือ “แบ่งกันเป็นจุดเด่น” ด้วยค่ะ … เป็นเรื่องสำคัญมาก ที่เด็กจะต้องเรียนรู้ที่จะให้โอกาสเพื่อนเป็นจุดเด่น ให้แสงไฟสาดส่องไปทางฝั่งเพื่อนบ้างค่ะ
6. ดีใจกับชัยชนะของเพื่อน
ถ้าหากเพื่อนได้รับชัยชนะ แล้วคุณรู้สึกดีใจและตื่นเต้นได้ราวกับว่าคุณชนะเสียเองนั้น … นั่นแปลว่าคุณมีทักษะด้านความสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมค่ะ!
โดยปกติ หากเพื่อนได้รับชัยชนะหรือทำอะไรสักอย่างสำเร็จ เช่น เล่นกีฬาชนะ, เรียนได้เกรดเฉลี่ยสูง, เป็นจุดเด่นในโรงเรียนเพราะทำอะไรสักอย่างสำเร็จ คนปกติอาจจะรู้สึก “อิจฉา” … แต่การที่เราสามารถแสดงความยินดีออกมาได้นั้น ก็จะทำให้มิตรภาพนั้นดีขึ้นและแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งเมื่อถึงตาเราสำเร็จบ้าง เพื่อนก็จะรู้สึกยินดีและมีความสุขไปกับเราเช่นกันค่ะ
การตอบสนองในเชิงบวกเมื่อเห็นผู้อื่นได้รับความสำเร็จหรือมีชัยชนะ เป็นทักษะที่ช่วยส่งเสริมมิตรภาพ ซึ่งการวิจัยได้พิสูจน์แล้วว่า สิ่งนี้ยังช่วยส่งเสริมชีวิตคู่และความสัมพันธ์อื่น ๆ อีกด้วยค่ะ
7. ฝึกกลยุทธ์ วิธีจัดการอารมณ์ เช่น ความโกรธ หรือ ความเศร้า
เมื่อมีโอกาสได้เข้าโรงเรียน … โรงเรียนต่าง ๆ มักจะมีสนามเด็กเล่น Playground และบริเวณให้เด็กได้เล่นด้วยกัน ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ นอกจากให้ความสนุกแล้ว ก็สามารถส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะ Friendship Skill, การเข้าสังคม และการจัดการอารมณ์ได้อีกด้วย เพราะว่าเด็ก ๆ จะได้เติบโตในการเรียนรู้วิธีรับมือกับอารมณ์ที่จัดการได้ยาก หรือ Difficult Emotion เช่น ความโกรธ และความเศร้า เป็นต้นค่ะ
เด็กที่ไม่สามารถรับมือกับอารมณ์โกรธ โดยแสดงออกด้วยการใช้กำลัง เฆี่ยนตี ตะคอก หรือแสดงออกในเชิงลบ จะทำให้เพื่อน ๆ ไม่ค่อยชอบ ดังนั้น นี่จึงเป็นอีกหัวข้อและสกิลที่สำคัญ ที่พ่อแม่อาจช่วยฝึกลูก เช่น สอนลูกให้รู้จักอารมณ์ที่กำลังเกิดในปัจจุบัน และช่วยกันคิดหาไอเดีย ลองบทบาทสมมติ เพื่อหาทางออกในการแสดงอารมณ์อย่างสร้างสรรค์ หรือเป็นไปในทางที่ดีกว่า … จริงอยู่ที่ว่า ถ้าเราเป็นคนชอบแบ่งปันนั้น ก็จะทำให้เรามีเพื่อน แต่ถ้าเอาแต่แจกขนมเพื่อน แต่จัดการอารมณ์ด้านอื่นไม่ได้ ก็อาจทำให้มิตรภาพไม่ยืนยาว และเป็นไปในทางที่ไม่ดี
อย่างไรก็ตาม เด็ก ๆ อาจไม่สามารถทำได้ 100% ภายในทันที หรือ ภายในครั้งเดียวหลังจากพ่อแม่แนะนำ ก็เป็นเรื่องที่เด็ก ๆ กำลังเติบโต และหากผู้ใหญ่สามารถให้การสนับสนุนเป็นที่ปรึกษาได้ ก็จะทำให้เด็กเติบโตขึ้นได้ในทางที่ดีค่ะ
8. ฝึกแก้ปัญหาด้วยตัวเอง แทนที่จะขอให้ผู้ใหญ่ช่วย
โดยปกติของบ้านเรา เรามักจะพบว่า ถ้าเด็กมีปัญหาที่โรงเรียน (รู้สึกเสียใจ, รู้สึกปวดใจ, มีปัญหากับเพื่อน) แล้วกลับมาบอกพ่อแม่ พ่อแม่บางคนก็จะให้คำแนะนำเพื่อให้เด็กทำตามที่บอกหรือบางคนอาจจะจัดการแทนลูก …. ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว … ถ้าพบว่าเด็ก “ไม่สามารถแก้ปัญหาของตัวเองกับเพื่อนด้วยตัวเองได้” นั่นก็แปลว่าผู้ใหญ่หรือพ่อแม่ควรช่วยสนับสนุนให้เด็กเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาด้วยตัวเองให้ได้ แทนที่จะวิ่งมาให้พ่อแม่ช่วยทุกครั้ง … โดยอาจช่วยแนะนำลูก ว่าถ้าเจอปัญหาแบบนี้ ควรตอบสนองอย่างไรดีบ้าง เช่น โดนล้อเลียน, โดนพูดจาแบบไม่เห็นอกเห็นใจ, ถูกกล่าวหา, รู้สึกแพ้, ถูกทอดทิ้งไม่มีใครเล่นด้วย หรือได้รับการกดดันจากเพื่อน ซึ่งพ่อแม่อาจทบทวน ลองหาไอเดียและวิธีต่าง ๆ ในการแก้ปัญหาเหล่านี้ เพื่อให้เด็กเรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิต การเข้าสังคมและทักษะความสัมพันธ์
อย่างไรก็ตาม การฝึกให้เด็กแก้ปัญหาด้วยตัวเองนั้น ผู้ใหญ่ควรระวังคำพูด อย่างเช่น สมมติลูกกลับมาเล่าปัญหาให้คุณฟังแล้ว คุณกลับไม่พูดอะไรเลย นอกจากคำว่า “แก้ด้วยตัวเองค่ะ” หรือ “ไปฝึกดูเอง” ซึ่งอาจส่งผลในทางลบได้ … พ่อแม่อาจช่วยกันระดมไอเดีย ระดมความคิด แลกเปลี่ยนกันกับลูก จำลองสถานการณ์ แต่ไม่ควรใช้คำพูดที่เป็นการผลักใสไล่ส่งโดยไม่สนับสนุนหรือแสดงความเห็นใจอะไรเลยค่ะ …
นอกจากนี้ พ่อแม่ควรแยกระหว่าง “ปัญหาเล็ก” และ “ปัญหาใหญ่”
- ปัญหาเล็ก คือปัญหาเรื่องคำพูด คำพูดที่อาจกวนใจเรา อาจทำให้เราเจ็บใจหรือไม่สบายใจ แต่ไม่ได้ทำให้เราเจ็บตัว ซึ่งเป็นปัญหาที่เด็กสามารถเรียนรู้วิธีที่จะแก้ไขได้ตัวเอง
- ส่วน “ปัญหาใหญ่” คือปัญหาที่ทำให้เราบาดเจ็บทางร่างกาย เช่น การทำร้ายร่างกาย, การขู่ทำร้ายร่างกาย ปัญหาการกลั่นแกล้ง และปัญหา Bully เป็นต้น ซึ่งเด็กอาจจะไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง และผู้ใหญ่อาจต้องเข้ามามีส่วนช่วย
ซึ่งพ่อแม่ก็ต้องพยายามแยกอีกเช่นกัน เพราะคนมักเข้าใจคำว่า Bully ผิด และปัญหาของเด็กในบางครั้งนั้น ช่างซับซ้อน Complex และอาจมีต้นเหตุที่ซับซ้อน อย่างเช่น อาจเดินชนกันเป็นอุบัติเหตุ แต่มาแกล้งกันกลับ จนกลายเป็นกระกระทบกระทั่งกัน และนำไปสู่การข่มขู่ ซึ่งหากมีโอกาสทีมงาน Beverly O ก็อยากจะรวบรวมหาข้อมูลเรื่องนี้ให้อ่านนะคะ
9. เห็นอกเห็นใจผู้อื่น
ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy) คือทักษะที่จำเป็นและสำคัญในการเข้าสังคม แต่สิ่งที่ท้าทายคือ “ความเห็นอกเห็นใจ” นั้น เป็นสิ่งที่ยากที่จะสอน และก็ยากที่จะกำหนดออกมาเช่นกัน … ด็อกเตอร์ Gwen Dewar, Ph. D เรียก “ความเห็นอกเห็นใจ หรือ Empathy” ว่าเป็น “Standard-issue, grown-up social skills,” แม้แต่ผู้ใหญ่ก็มีปัญหานี้ และหากให้ผู้ใหญ่ที่ไม่มีความเห็นอกเห็นใจ เลี้ยงลูกออกมา คุณคิดว่าเด็กจะโตมาลำบากขนาดไหน! แล้วเด็กที่โตเช่นนั้น จะปฏิบัติกับเพื่อนอย่างไร?
พ่อแม่อาจแนะนำให้ลูกอ่านหนังสือเรื่อง “Have You Filled a Bucket Today?: A Guide to Daily Happiness for Kids” โดย Carol McCloud หรือภาษาไทยชื่อว่า “กระป๋องล่องหนแห่งความสุข” ซึ่งเป็นหนังสือที่จะสอนลูกให้เรียนรู้เรื่องความรู้สึก ทั้งของตัวเอง และของคนอื่น และสอนให้รู้จักเห็นอกเห็นใจ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” …
เพราะว่าความรู้สึกนั้น เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็นด้วยตา แต่ว่าสามารถรู้สึกได้ค่ะ
ดร. สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ได้เคยเขียนไว้ใน MGRonline.com เกี่ยวกับเรื่อง Empathy โดยให้ความหมายว่า “Empathy คือ ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การที่เราสามารถเข้าใจความรู้สึกหรือมุมมองของคนอื่นผ่านประสบการณ์ของเขาโดยไม่เอาประสบการณ์ของเราไปตัดสิน และการที่จะเข้าถึงใจคนนั้นได้จริง ไม่ใช่ว่าเกิดมาแล้วจะทำได้เลย แต่มันต้องผ่านการเรียนรู้และค่อย ๆ ฝึกฝน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย”
นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงประเด็นเรื่องความเห็นอกเห็นใจที่ขาดหายไปในสังคมไทย ซึ่งส่งผลมาจากการเลี้ยงลูกโดยผู้ใหญ่ที่ขาดความเห็นอกเห็นใจเช่นกัน (อ่าน) … อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ลูกจะต้องเผชิญและหนีไม่พ้นนั้น คือถ้าหากเด็กขาด Empathy ก็จะทำให้ส่งผลในแง่ลบต่อมิตรภาพ … แต่หากเราสอนลูกตามตัวอย่างในหนังสือ “Have You Filled a Bucket Today?” ก็จะช่วยทำให้ลูกรู้ว่า
การที่เราอยากจะมีความสุขนั้น เราไม่จำเป็นต้องแกล้งเพื่อนหรือตักตวงความรู้สึกของคนอื่น เพื่อให้เรามีความสุขมากกว่าเดิมค่ะ แต่ตรงกันข้าม … การแบ่งปัน การทำดีต่อกัน การส่งความรู้สึกบวกต่อกัน ก็จะทำให้เรารู้สึก “เติมเต็ม” และกระป๋องล่องหนของเราจะเต็มจนรู้สึกได้เลยค่ะ
10. อ่อนโยน เป็นมิตร และมีน้ำใจ
คำว่า “Kindness” บางคนอาจแปลความหมายว่ามีเมตตา ปรานี … ซึ่งการแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยนั้นก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อนมาก ทีนี้บางท่านจะนึกถึงคำว่า “Kindness” เป็นภาษาอังกฤษไปเลยก็ได้หากนึกภาพออก หรือ จะลองนึกถึงภาษาไทยว่าเป็นความอ่อนโยน เป็นมิตร และมีน้ำใจก็ได้ เมื่อพูดถึงคีย์เวิร์ดนี้
เด็กบางคนใจดี มีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือหรือให้คนอื่นโดยธรรมชาติ แต่ส่วนใหญ่ก็อาจจะต้องเสริมสร้างและสนับสนุนกล้ามเนื้อแห่งความเมตตากันขึ้นมาบ้าง … ซึ่งก็มีหลายวิธีในการที่พ่อแม่จะช่วยสอนลูกเรื่องความเมตตาได้ เช่น
- การแบ่งปัน ก็เป็นการแสดงถึงความเมตตาและมีน้ำใจ
- การชมเชยผู้อื่น ก็เป็นวิธีที่ดีเยี่ยมเช่นกัน
- การช่วยเหลือเพื่อนในตอนทุกข์ยาก หรือ ลำบาก ก็เป็นอีกตัวอย่างที่ดีค่ะ
จริง ๆ มีหลายไอเดียและการแสดงออกที่สามารถแสดงถึงความเมตตา เป็นมิตร อ่อนโยน และมีน้ำใจ … ซึ่งพ่อแม่และทุกคนที่บ้านก็สามารถแสดงถึงความอ่อนโยน มีเมตตาและมีน้ำใจกับคนในบ้านกันเอง และกับลูกของเรา เพื่อให้ลูกดูเป็นตัวอย่างได้เช่นเดียวกันค่ะ … อย่างไรก็ตาม … ถ้าพูดถึงที่บ้านเราคนไทย นอกจากสอนลูกเรื่องความมีน้ำใจแล้ว พ่อแม่ต้องระวังตัวเองและลูกในการสอนเรื่อง “การรับผิดชอบต่อตัวเอง” ควบคู่กันไปด้วยนะคะ … เพราะเรื่องบางเรื่องนั้น ที่เป็นเรื่องที่ลูกต้องรับผิดชอบเอง เช่นเรื่องเรียน, การดูแลตัวเอง และอื่น ๆ ถ้าไม่ช่วย ไม่ได้แปลว่าไม่มีน้ำใจค่ะ ต้องฝึกควบคู่กันไประหว่างความรับผิดชอบ และความมีเมตตามีน้ำใจค่ะ
บทความโดย Beverly O
ติดตามเราใน Facebook Beverly O
แหล่งข้อมูล
https://sunshine-parenting.com/10-friendship-skills-every-kid-needs
https://www.mindfulkidscoaching.com/post/is-this-a-big-or-small-problem
https://mgronline.com/qol/detail/9630000111624
คุณอาจสนใจ
- กลุ่มผู้ปกครองโรงเรียนนานาชาติ และโรงเรียนทางเลือก ในประเทศไทย
- วิธีเลือก โรงเรียนนานาชาติ ที่เหมาะสมให้ลูก
- โรงเรียนนานาชาติ หลักสูตรอเมริกัน คืออะไร ดีไหม เรียนอะไรบ้าง?
- โรงเรียนนานาชาติหลักสูตรอังกฤษ คืออะไร ดีไหม เรียนอะไรบ้าง?
- กลุ่มผู้ปกครองโรงเรียนนานาชาติ และโรงเรียนทางเลือก ในประเทศไทย
- วิธีเลือก ‘โรงเรียนนานาชาติ’ ให้ลูก สำหรับพ่อแม่ที่ไม่ได้เรียนอินเตอร์
- รีวิว ข้อดี VS ข้อเสีย โรงเรียนนานาชาติ จากประสบการณ์