บ่อยครั้ง … ที่พ่อแม่คิดว่าถ้าอยากให้ลูกเรียนโรงเรียนที่ไม่เครียด ก็ตัดสินว่าควรจะส่งลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติหรือโรงเรียนทางเลือก แต่ในความเป็นจริง สไตล์การสอนนั้นขึ้นอยู่กับ Philosophy และการวางแผนการสอน ซึ่งโรงเรียนนานาชาติก็มีหลายระบบ ทั้งระบบอังกฤษ อเมริกา และอื่น ๆ และแต่ละโรงเรียนก็มีปรัชญาการศึกษา (Educational Philosophy) ที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น หากจะใช้คำว่า “โรงเรียนนานาชาติ” มาทดแทนหรือเป็นคำนิยามให้กับโรงเรียนที่จัดสรรเนื้อหาแบบไม่เครียดก็คงจะไม่ถูกเสียทีเดียว ในบทความนี้ Beverly O รวมวิธีเลือกโรงเรียนให้ลูก มาดูกันว่าโรงเรียนที่คุณอยากได้ จะเป็นโรงเรียนแนวไหน โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนทางเลือก และมีวิธีเลือกอย่างไร Beverly O นำมาฝากทุกท่านที่นี่ค่ะ
สารบัญ
วิธีเลือกโรงเรียนให้ลูก หาโรงเรียนยังไง ให้ถูกใจ ตั้งแต่ชั้นอนุบาล
1. เช็ก Philosophy และ Mission ของโรงเรียน
Educational Philosophy ของโรงเรียน จะเป็นแนวทางที่กำหนดว่าครูจะมองนักเรียนด้วยมุมมองไหน อยากให้เด็กโตมามีบุคลิกอย่างไร ครูจะสอนเด็กด้วยวิธีอะไร ออกเกรดยังไง สอบวัดผลยังไง จะเริ่มสอนวิชาการตอนอายุเท่าไร มีวิธีปฏิบัติกับนักเรียนอย่างไร และ จะดูแลนักเรียนที่มาจากพื้นฐานแตกต่างกันอย่างไร ทั้งเด็กปกติ และเด็กที่มีคุณสมบัติเหมาะกับการเข้าร่วมโปรแกรม Special Care หรือควรมี Specialist คอยช่วยสนับสนุน เป็นต้นค่ะ
- บางคน… เชื่อว่าไม่ควรสอนวิชาการให้เด็กก่อนอายุ 6 ขวบ
- บางคน… เชื่อว่าควรสอนวิชาการ การอ่าน–เขียน ให้เด็กตั้งแต่ก่อน 6 ขวบ
- บางโรงเรียน… สนับสนุน Student Service ทั้งด้านการให้คำปรึกษานักเรียน การดูแลสุขภาพจิต ดูแลนักเรียนที่เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง และนักเรียนที่ต้องการ Intensive Class หรือ Special Care และสนับสนุนการปรับปรุงพื้นที่ที่เป็นการเรียนรู้ที่ปลอดภัยและยั่งยืนสำหรับนักเรียน
- บางโรงเรียน… เชื่อในการฝึกระเบียบวินัยและกฏระเบียบ ผ่านการแต่งตัว คำพูด และ มารยาท
- บางโรงเรียน… สอนวิชาการควบคู่กับการสอนศาสนาไปด้วย
- บางโรงเรียน… เชื่อในการให้เด็กทำกิจกรรมและเล่นกีฬา เชื่อว่าจะเป็นรากฐานในการสร้างความสำเร็จในกับคน ๆ หนึ่ง
- บางโรงเรียน… ให้เด็กเรียนเนื้อหาสูงกว่าระดับเดียวกัน หรือ เรียนเนื้อหาข้ามชั้น
- บางคน… วางแผนให้ลูกเป็นหมอ ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ และเชื่อว่าต้องเตรียมตัวสอบต่าง ๆ ให้ผ่านตามมาตรฐานที่ต้องพบเจอ
- บางโรงเรียน… จัดสรรเนื้อหาและใช้ปรัชญาการสอนตามงานวิจัยการศึกษา
- บางโรงเรียน… จ้างคนมาออกแบบหลักสูตรการสอน เพื่อสร้างรากฐานให้กับเด็ก ต่อยอดไปถึงอนาคต เน้นสร้างสกิลที่ควรมีในอีก 10-20 ปีข้างหน้า
- และยังมีความเชื่ออื่น ๆ อีกมากมาย
พอถึงเวลาเลือกโรงเรียนจริง ๆ พ่อแม่ควรคิดให้ดีก่อนว่าตัวเองเชื่อแบบไหน เพราะสมมติว่า พ่อแม่อยากให้ลูกเรียนโรงเรียนที่สอนแนว Creative และสอนด้วยภาษาอังกฤษ จึงเลือกโรงเรียนนานาชาติ แต่พอส่งลูกไปเรียนจริง กลับพบว่าโรงเรียนบางแห่งอาจไม่สอนวิชาการให้เด็กก่อนอายุ 6 ขวบ ก็เลยทำให้รู้สึกกังวล กลัวตามไม่ทันเพื่อน รู้สึกไม่คุ้มเงิน แต่โรงเรียนนานาชาติบางแห่งก็มีที่สอนการอ่าน–เขียนให้ตั้งแต่อนุบาลก็มีค่ะ … จริง ๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องของความคิด ความเชื่อ และ Mindset ของพ่อแม่แต่ละคน เพราะแต่ละบ้านอาจมีความเชื่อไม่เหมือนกันค่ะ พ่อแม่ควรศึกษาเรื่อง Philosophy ของตัวเองกับของโรงเรียนให้ละเอียดถี่ถ้วน แล้วค่อยดูวิธี Approach เด็กในข้อ 2 เป็นเรื่องถัดไปค่ะ
2. ทำได้ตามที่พูดมั้ย ผลลัพธ์เป็นยังไง
วิธีลงมือปฏิบัติและวิธีสอนของครู ดูแล้วจะทำให้ Philosophy และ Mission ของโรงเรียนเป็นจริงได้ไหม
พ่อแม่ควรจะดูวิธีลงมือสอนควบคู่ไปกับปรัชญา Philosophy หรือแผนการสอนที่โรงเรียนบอกพ่อแม่เอาไว้ด้วยค่ะ ดูแล้วคิดว่ามันขัดกับความเชื่อของพ่อแม่หรือไม่? เช่น สมมติว่า โรงเรียนมีวิธี Approach เด็กแบบ Play-based learning แต่โรงเรียนมี Philosophy ที่จะสอนวิชาการและการอ่านเขียนให้เด็กตั้งแต่ชั้นอนุบาล (ก่อนอายุ 6 ขวบ) และมีแผนจะสอนเนื้อหาที่ Advance นำหน้าโรงเรียนอื่น สอนให้เด็กแข่งขันและผลักดันตัวเองในเด็กเล็ก … พ่อแม่ชอบไหมคะ? พ่อแม่บางคนถูกใจ แต่ก็มีพ่อแม่บางคนที่ไม่เห็นด้วย ก็ต้องมาคิดต่อว่าจะให้ลูกเรียนที่นี่ดีไหม ตรงกับใจเราหรือเปล่า
การ Approach เด็กนักเรียนก็คือการที่ทางโรงเรียนจะดูแล รับมือ และสอนยังไงเพื่อที่จะให้เด็กบรรลุเป้าหมายตามหลักสูตร หรือตาม Philosophy ของโรงเรียน … ส่วนวิธีสอนแบบ Play-based learning ยกตัวอย่างง่าย ๆ ที่เคยเจอมา คือการที่ครูจะให้เด็กวิ่งเล่น หรือเล่นตาม Station ต่าง ๆ ที่จัดเตรียมไว้ แล้วครูก็จะเข้าหาเด็กทีละคน เข้าไปสอนตัวต่อตัว เชื่อว่าเป็นวิธีที่ทำให้เด็กไม่เครียด ไม่ร้องไห้ ต่างจากการสอนแบบ Tradition แบบให้เด็กนั่งนิ่ง ๆ แล้วฟังครูคนเดียว แบบที่บางท่านอาจเคยเจอมา … ทีนี้ สมมติว่าเด็กได้วิ่งเล่นแบบไม่เครียด สมใจพ่อแม่ก็จริง แต่โรงเรียนมี Philosophy ว่าลำดับถัดไปจะต้องเรียนวิชาการ อ่าน–เขียน และเริ่มผลักดันเด็กให้เรียนสิ่งที่ Advance กว่าในวัยเดียวกันแล้วนะ แบบนี้ตรงกับ Philosophy ในใจพ่อแม่ไหมคะ? แล้วถ้าให้ไปเรียนโรงเรียนที่จะจัด Station การเรียนรู้ต่าง ๆ ให้เด็ก ให้ลงมือปฏิบัติจริง ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กให้ลูก แต่อาจไม่เจอวิชาการหรือฝึกให้ลูกเราอ่านออกเขียนได้ในเด็กเล็กนะ พ่อแม่รับได้ไหมคะ? เป็นอีกเรื่องที่พ่อแม่ควรพิจารณาในการหาโรงเรียนไปควบคู่กันค่ะ
- วิธีเลือก ‘โรงเรียนนานาชาติ’ ให้ลูก สำหรับพ่อแม่ที่ไม่ได้เรียนอินเตอร์
- เรียนโรงเรียนนานาชาติ ที่ไหนดี | หลักสูตรอังกฤษ อเมริกัน IB ต่างกันยังไง
3. การวางแผนอนาคต
พ่อแม่บางคนอาจวางแผนอนาคตแตกต่างกันซึ่งก็ส่งผลต่อการเลือกโรงเรียนให้ลูกด้วยค่ะ เช่น
ให้ลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติตอนอนุบาล แล้วขึ้น ป. 1 ให้สอบเข้าสาธิต
พ่อแม่บางคนอยากให้ลูกได้ภาษาอังกฤษ ก็เลยให้ลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติในชั้นเนอร์สเซอรี่จนถึงอนุบาล แล้วค่อยสอบเข้าสาธิต โรงเรียนคาทอลิก หรือ โรงเรียนอื่น … ถ้าเลือกทางนี้ สิ่งที่ควรเตรียมตัว คือ ควรดูแนวข้อสอบโรงเรียนสาธิต วิธีการสอบ สอนลูกให้รู้จักคำศัพท์ภาษาไทยที่จะเจอในการสอบ
ส่วนสิ่งที่ควรคำนึงคือ
- สมมติคุณเลือกโรงเรียนนานาชาติให้ลูกเป็นโรงเรียนแรก ซึ่งเป็นโรงเรียนที่สอนตามพัฒนาการ ให้ความเป็นอิสระและความเป็น Individual กับเด็ก แต่ถ้าจะย้ายไปโรงเรียนอื่น ที่มี Philosophy ต่างกัน, การแข่งขันด้านวิชาการต่างกัน หรือหากลูกต้องเรียนพิเศษ (ซึ่งโรงเรียนนานาชาติบางแห่งอาจไม่ใช่แนวนี้) ลูกคุณจะปรับตัวได้ไหม จะแฮ้ปปี้ไหม
- ถ้าคุณเลือกโรงเรียนนานาชาติที่เน้นวิชาการให้ลูกเรียนไปก่อน แล้วย้ายไปโรงเรียนไทย แต่วิธีใช้คำพูดของครูอาจจะต่างกัน คุณคิดว่าจะส่งผลต่อตัวเด็กไหม ถ้าส่งผลจริง คุณจะทำยังไงต่อ
- ถ้าคุณให้ลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติ แล้วติวเข้าสาธิตเพิ่มเติมไปด้วย แล้วถ้าบุคลิกหรือนิสัยของลูกคุณไม่เหมาะกับโรงเรียนที่ติว แล้วถ้าโรงเรียนแห่งแรกไม่สนับสนุนการเรียนแบบทำแบบฝึกหัดซ้ำ ๆ แต่ที่เรียนพิเศษติวเข้าโรงเรียนไทยบางแห่งนั้นสนับสนุน คุณจะทำยังไงต่อกับการต้องเปลี่ยนพฤติกรรมของลูก
- โรงเรียนนานาชาติหลักสูตรอังกฤษ คืออะไร ดีไหม เรียนอะไรบ้าง?
- โรงเรียนนานาชาติ หลักสูตรอเมริกัน คืออะไร ดีไหม เรียนอะไรบ้าง?
- เรียนโรงเรียนนานาชาติ ที่ไหนดี | หลักสูตรอังกฤษ อเมริกัน IB ต่างกันยังไง
เรียนโรงเรียนนานาชาติตอนอนุบาล แล้วย้ายไปต่างประเทศตอนประถม หรือ มัธยม
หากพ่อแม่ต้องการให้ลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติตอนอนุบาล แล้วค่อยย้ายไปเรียนต่างประเทศตอนประถมหรือมัธยม สิ่งที่ควรคำนึงก็มีเรื่องระบบการศึกษา เพราะว่าระบบอังกฤษ, อเมริกัน, IB และของชาติอื่น ๆ อาจไม่เหมือนกัน … ควรวางแผนล่วงหน้าว่าถ้าย้ายไปที่ใหม่แล้วจะลงตัวหรือไม่ หากไม่ลงตัว เช่น ถ้าหากจะย้ายจากระบบอเมริกันไปอังกฤษ ก็ควรปรึกษาโรงเรียนที่จะย้าย หรือ ดูเนื้อหาของหลักสูตรว่าไปด้วยกันได้ไหม ตามทันไหม เพราะว่าโรงเรียนบางแห่งอาจจะเน้นการสร้างพื้นฐาน Fundamental ให้เด็กจากการเล่นกีฬาและทำกิจกรรม แต่โรงเรียนอีกแห่งอาจจะเน้นวิชาการ ซึ่งเรื่องนี้ ไม่ได้แปลว่าเด็กเรียนโรงเรียนที่เน้นวิชาการมาก่อนแล้วจะดีกว่าเสมอไปนะคะ เพราะถ้าเราให้เด็กเรียนโรงเรียนที่เป็นแนวครูป้อนข้อมูลให้เด็ก เหมือนเด็กเป็นแก้วเปล่าแล้วครูเอาข้อมูลมาใส่ ถ้าเด็กชินกับสไตล์แบบนี้มา พอเปลี่ยนไปเรียนโรงเรียนที่ต้องการให้เด็กแสดงความคิดเห็น ค้นคว้าหาข้อมูลเอง ก็อาจจะทำให้เด็กต้องปรับตัวในระยะหนึ่งค่ะ
ให้ลูกเรียนโรงเรียนไทยก่อนแล้วย้ายมาโรงเรียนนานาชาติตอนประถม
เนื่องด้วย Philosophy ของแต่ละโรงเรียนอาจไม่เหมือนกัน และภาษาหลักที่ใช้ในการสอนอาจต่างกัน พ่อแม่ควรปักหมุดก่อนว่าโรงเรียนนานาชาติที่เล็งไว้คือโรงเรียนอะไร แล้วศึกษาดูว่าการเรียนเขาเข้มข้นขนาดไหน ระดับภาษาควรจะเป็นระดับไหน เพราะบางเคสให้เรียนโรงเรียนไทยก่อน พอย้ายมาโรงเรียนนานาชาติก็ไม่รับ เพราะด้วยระดับภาษากับวิชาการที่โรงเรียนนานาชาติอาจเรียนแตกต่างหรือเรียนนำไปก่อนก็มีค่ะ อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งใจเสียไปก่อนค่ะ สามารถพาลูกไปลองสมัคร ลองสอบเข้าโรงเรียนนานาชาติดูก่อนได้นะคะ
ให้ลูกเรียนโรงเรียนไทย แล้วย้ายไปเรียนโรงเรียนนานาชาติตอนมัธยม
สิ่งที่อาจเป็นอุปสรรคสำหรับเด็กโรงเรียนไทยที่ย้ายไปเรียนโรงเรียนนานาชาติตอนมัธยม คือ
- ระบบการศึกษา เช่น ระบบอังกฤษจะมีให้สอบ IGCSE ตอน Year 10-11 หรือประมาณ ม. 3 – ม. 4 แต่แปลว่าเด็กจะผ่านการเรียนเนื้อหา IGCSE กันมาก่อนแล้ว ซึ่งสำหรับเด็กไทยที่ย้ายไปนานาชาติ เด็กก็จะต้องปรับตัวและตามเนื้อหาเหล่านี้ให้ทันได้ได้ค่ะ
- ระดับการใช้ภาษา ยกตัวอย่างทีมงาน Beverly O ท่านหนึ่งค่ะ มีทีมงานของเรา เคยย้ายจากโรงเรียนไทยไปโรงเรียนนานาชาติเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ผลที่ออกมาก็คือ แม้ว่าทีมงานจะเรียนหลักสูตร EP (English Program) ในโรงเรียนไทยมาก่อน และได้เกรด A ในระบบโรงเรียนไทย แต่เมื่อมาสอบเข้าโรงเรียนนานาชาติในสมัยนั้น กลับได้คะแนนการพูด การสื่อสาร เทียบเท่ากับเด็กป. 4 เท่านั้น ซึ่งอายุจริงคือ 15 ปี ซึ่งถือแปลว่าต้องหาทางเรียนตามเพื่อนในห้องให้ทัน พยายามปรับตัวให้เข้ากับระบบการเรียนใหม่ และมหาวิทยาลัยที่จะไปเรียนต่อให้ได้ค่ะ
ทั้งนี้ เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกันค่ะ เด็กบางคนชอบมากกับการ Challenge การแข่งขัน หรือ วิชาการ แต่เด็กบางคนก็มีบุคลิกต่างกัน Beverly O แนะนำว่าพ่อแม่แต่ละบ้านควรดูตามความเหมาะสมของบ้านตัวเองไปค่ะ
4. สังคมผู้ปกครอง
นอกจากตัวโรงเรียนและหลักสูตรเองแล้ว ผู้ปกครองก็มีส่วนสำคัญที่จะทำให้การศึกษาของเด็กสำเร็จไปตามหลักสูตรด้วยค่ะ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ถ้าคุณส่งลูกเรียนโรงเรียนที่เน้นผลิตเด็กสายวิทย์ ผลิตหมอหรือวิศวะ คุณอาจจะเจอเด็กและผู้ปกครองที่เตรียมพร้อมและร่วมมือกันติวและเตรียมตัวสำหรับเส้นทางตรงหน้า … ส่วนถ้าหากคุณส่งลูกไปโรงเรียนนานาชาติแนว Reggio Emilia หรือ โรงเรียน IB คุณก็อาจจะเจอผู้ปกครองอีกแบบ … ซึ่งก็มีเหมือนกัน ที่ผู้ปกครองบางท่านไม่ได้สนใจ Philosophy ของโรงเรียน แต่ส่งลูกเข้าเรียนเพียงเพราะเพื่อนบอกหรือสังคมบอกว่าโรงเรียนนี้ดี ก็อาจจะอยากจะส่งลูกเข้า โดยที่ไม่ได้สนใจแนวทางของโรงเรียน แต่ถ้าหากคุณสังเกต ว่าโรงเรียนไหนประสบความสำเร็จในด้านไหนด้านหนึ่งมาก ๆ บางครั้งก็เป็นเพราะว่าในที่แห่งนั้นเป็นที่ที่รวมคนที่มีแนวทางเดียวกัน ก็จะช่วยทำให้โรงเรียน นักเรียน และผู้ปกครอง ประสบความสำเร็จในทางเป้าหมายตาม Philosophy ที่ตั้งไว้ค่ะ
สังเกตง่าย ๆ อีกเรื่อง คือเรื่องวิธีการเลี้ยงลูก บางบ้านอาจจะไม่อยากให้ลูกดูทีวีหรือไอแพด อาจจะอยากมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ของลูก และ อาจจะอยากให้ลูกเล่นสไตล์ EF เล่นแบบได้เรียนรู้ เป็นสเตชั่น เช่น ฝึกปลูกเห็ด, เล่นแป้งโด, เล่นสายต่อน้ำ ดูทิศทางการไหลของน้ำ เป็นต้น แต่บางบ้าน ไม่ได้สนตรงนี้ ให้เล่นสไตล์ต่างกัน เมื่อนำเด็กมารวมกัน เป็นเพื่อนกันในโรงเรียนเดียวกัน พอเด็กนัดไปเล่นกันที่บ้าน ก็อาจจะสไตล์ไม่ตรงกันแล้ว อีกบ้านอนุญาตให้ลูกกินลูกอม เล่นเกม ดูหนังผู้ใหญ่ อีกบ้านไม่ชอบ แค่นี้ก็ลำบากสำหรับคนที่พยายามไม่ให้ลูกเล่นสิ่งเหล่านี้ อาจเกิดความลำบากใจ เพราะว่าพ่อแม่มีความเชื่อต่างกัน มีภาระต่างกัน และ มีเวลาว่างสำหรับดูแลลูกไม่เท่ากันค่ะ บางคนต้องทำงานหนักมาก ๆ ก็อาจจะไม่ได้มีเวลาให้ลูกมากเท่ากับบ้านที่มีคนมาดูแลลูกตลอดค่ะ
นี่ยังไม่รวมถึงการใช้คำพูด และการลงโทษของผู้ปกครอง บางบ้านศึกษาวิธีการใช้คำพูดกับเด็ก ต้องการคำพูดเชิง Positive แต่บ้านเพื่อน เลี้ยงสไตล์ใช้การลงโทษ การตี การเปรียบเทียบ หรือ บางบ้านอาจจะเน้นให้ลูกต้องเป็นเลิศทุกด้าน แต่บางบ้านก็ปล่อยไปตามเวลาและพัฒนาการ ไม่มีการ Push เด็ก ‘รอให้ลูกพร้อม’
สุดท้าย เราคงจะถึงขนาดเลือกไม่ได้ว่าใครจะมาเรียนเป็นเพื่อนร่วมชั้นกับลูกเรา แล้วครอบครัวเขาจะเป็นยังไง? แต่ถ้าหากโรงเรียนช่วยสอนเรื่องการเข้าสังคม การควบคุมตัวเอง การจัดการอารมณ์ Self-Esteem วิธี Make Friends และอื่น ๆ ก็จะทำให้พ่อแม่มั่นใจได้อีกเปราะนึงว่า เด็กจะมีเหตุผล รู้วิธีแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้ผ่านไปได้ รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ เรียนรู้สกิลที่จำเป็นในการใช้ชีวิตและทำให้สังคมตรงนั้นน่าอยู่ขึ้นค่ะ
ถ้าหากพ่อแม่มีสเป็คในใจอยู่แล้ว เช่น อยากให้ลูกเรียนโรงเรียนแนวมอนเตสเซอร์รี่, Reggio Emilia, โรงเรียนนานาชาติหลักสูตร IB, โรงเรียนแนว Forest School หรือ โรงเรียนระบบฟินแลนด์ เป็นต้น ก็อาจจะพิจารณาดูว่าตอบโจทย์เราไหมค่ะ หากไม่ แล้วโรงเรียนอะไรล่ะ? เราแนะนำให้กลับไปดู Philosophy ของโรงเรียน และ Philosophy ในใจของพ่อแม่ค่ะ
5. ค่าเทอม ระยะทางจากบ้าน และ การดูแลนักเรียน
บางบ้าน ตัดสินเลือกโรงเรียนลูกจากค่าเทอม คือคิดว่าถ้าเลือกโรงเรียนนานาชาติแล้วนั้น ก็ควรจะเลือกที่ค่าเทอมแพงที่สุด แพงแปลว่าดี ซึ่ง Beverly O แนะนำว่า ในความเป็นจริง ควรดูที่ Philosophy ของโรงเรียน ว่าโรงเรียนสามารถทำตามเป้าหมายที่ประกาศได้มั้ย วิธีการปฏิบัติดูแล้วเป็นไปได้มั้ย ผู้ปกครองที่มารวมตัวกันในโรงเรียนเป็นไปในทิศทางเดียวกันมั้ย และ ความคิดเห็นหรือรีวิวจากผู้ปกครองตัวจริงเสียงจริงในโรงเรียนรู้สึกยังไง สิ่งนี้สำคัญมากกว่า Marketing ต่าง ๆ ค่ะ … แต่ในเรื่องของค่าเทอม หากส่งลูกเรียนโรงเรียนหลักสูตรอังกฤษที่มี 3 เทอม ก็จะมีผลดีตรงที่สามารถแบ่งจ่ายค่าเทอมเป็น 3 งวด ใครที่มีลูกหลายคนก็อาจจะรู้สึกว่าจ่ายแต่ละครั้งนั้นดูน้อยกว่าโรงเรียนระบบอเมริกันที่มี 2 เทอม แต่สุดท้ายแล้ว ยังไงก็ต้องจ่ายให้ครบอยู่ดี จะจ่ายกี่รอบสุดท้ายก็ต้องจ่ายครบ เพราะฉะนั้น จะมีกี่เทอมก็คงไม่สำคัญ สุดท้ายก็ต้องจ่ายอยู่ดี ฉะนั้น ใช้เวลาในการหาโรงเรียนที่ถูกใจตามความเชื่อของพ่อแม่ดีกว่าค่ะ
ส่วนในเรื่องของระยะทาง ก็เป็นสิ่งสำคัญ การเลือกให้ลูกเรียนโรงเรียนใกล้บ้าน ก็จะช่วยประหยัดเวลาการเดินทาง เวลาที่พ่อแม่ต้องรอรับลูกในโรงเรียน ทำให้มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น เป็นเรื่องดีในระยะยาว ลองจินตนาการว่า หากโรงเรียนนานาชาติ หรือ โรงเรียนสาธิตแห่งหนึ่งดีจริง ดังมาก แต่ลูกต้องเดินทางไป–กลับ วันละ 3 – 4 ชั่วโมง ในระยะเวลา 12 ปี หรือนานกว่านี้ (และยังไม่รวมเวลาที่แม่ต้องนั่งรอในรถ หรือ หาที่รอระหว่างลูกเรียน) พ่อแม่และเด็กจะไหวมั้ย ทางออกก็คือ อาจจะต้องเช่าบ้าน เช่าคอนโด หรือ ซื้อบ้าน ซื้อคอนโด ซื้อในปัจจุบันโรงเรียนนานาชาติชื่อดังหลายแห่งก็ตั้งอยู่ในทำเลที่ดีมาก มีทั้งบ้านและคอนโดขายหรือให้เช่า ซึ่งก็ช่วยพ่อแม่ไปได้มากค่ะ
การดูแลนักเรียน เช่น การให้คำปรึกษา (Counseling) การดูแลสุขภาพจิตของนักเรียน, การช่วยดูแลเด็กที่ต้องการการ Support เพิ่มเติม ต้องปรับพื้นฐาน เช่น สอนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมให้กับนักเรียนที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ แต่ใช้เป็นภาษาที่สอง (English as a second language), การสอน Intensive, การดูแลเด็กที่ต้องการ Special Care หรือ Specialist เช่น เด็กที่มีอาการสมาธิสั้น เป็นต้น ก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกันค่ะ นอกจากนี้ อาจดูสิ่งที่โรงเรียนจัดเตรียมไว้สำหรับการเรียนรู้ เช่น อุปกรณ์, ห้องแลป, ห้องปฏิบัติการต่าง ๆ, หรือการลงทุนเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ การดูแลความสะอาด ความปลอดภัย และ จำนวนครูต่อนักเรียนแต่ละห้อง
สุดท้ายแล้ว หากผู้ปกครองศึกษา Philosophy ของโรงเรียน และพยายามค้นหาสไตล์การศึกษาที่ใช่ ความเชื่อที่ใช่ งานวิจัยการศึกษาสมัยใหม่ พร้อมอุปกรณ์และบุคลากร รวมทั้งการสนับสนุนนักเรียน (Student Service) ในด้านต่าง ๆ พิจารณาค่าเทอม สังคม และ ระยะทางจากบ้าน Beverly O ก็เชื่อว่าพ่อแม่จะสามารถเลือกโรงเรียนที่ถูกใจให้กับลูกได้ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนไทย โรงเรียนนานาชาติ หรือ โรงเรียนทางเลือกก็ตาม ในบทความหน้า Beverly O จะนำข่าวการศึกษาใหม่ ๆ มาฝากผู้ปกครองอีก ติดตามได้ที่เว็บไซต์ Beverly-O.com นะคะ
คุณอาจสนใจ
- 10 โรงเรียนนานาชาติ อินเตอร์ น่าเรียน ในกรุงเทพ
- รีวิว ส่งลูกเรียนนานาชาติ อนุบาล และ ประสบการณ์ School Visit
- กลุ่มผู้ปกครองโรงเรียนนานาชาติ และโรงเรียนทางเลือก ในประเทศไทย
- วิธีเลือก ‘โรงเรียนนานาชาติ’ ให้ลูก สำหรับพ่อแม่ที่ไม่ได้เรียนอินเตอร์
- เรียนโรงเรียนนานาชาติ ที่ไหนดี | หลักสูตรอังกฤษ อเมริกัน IB ต่างกันยังไง
- โรงเรียนนานาชาติ หลักสูตรอเมริกัน คืออะไร ดีไหม เรียนอะไรบ้าง?
- โรงเรียนนานาชาติหลักสูตรอังกฤษ คืออะไร ดีไหม เรียนอะไรบ้าง?
- 5 โรงเรียนนานาชาติ หลักสูตรอเมริกัน ในประเทศไทย
- วิธีเลือก โรงเรียนนานาชาติ ที่เหมาะสมให้ลูก
- รวมรายชื่อ โรงเรียนนานาชาติหลักสูตร IB ในประเทศไทย
- เรียนจบ ม. 6 มัธยม สามารถสอบ A-Level ได้ไหม (ข้อมูล IGCSE & A-Level)
- โรงเรียนนานาชาติ มีหลักสูตรอะไรบ้าง แตกต่างกันอย่างไร
- พ่อแม่ไม่เก่งภาษาอังกฤษ ส่งลูกเรียนอินเตอร์ได้หรือไม่
- รีวิว วิธีสอน Phonics เด็ก 4-6 ขวบ วิธีสอนลูกอ่านภาษาอังกฤษ แบบโรงเรียนนานาชาติ
- ลูกอ่านภาษาอังกฤษไม่ออก แก้ปัญหาอย่างไรดี (วิธีสอน Phonics ลูก)
- โรงเรียนนานาชาติ